วันศุกร์, 29 กันยายน 2566

ล่า….. สมิง

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แผ่นดินสยามเขียวขจีด้วยป่าไม้ไพรระหง ทั่วทุกภูมิภาคอุดมด้วยแดนดง ครอบคลุมไปกระทั่งถึงขุนเขาสูงใหญ่เสมอเมฆ เป็นต้นน้ำลำธารคีรีห้วยระหานผา มีสัตว์ป่ามากมายเหลือจะพรรณนา สมันนั้นนักนิยมไพรย่อมหาเวลาชวนกันไปท่องเที่ยวตระเวนป่าด้วยความรักชื่นชมในธรรมชาติอันบริสุทธิ์ กุลบุตรผู้ได้อุปสมบทในร่มโพธิ์ของพระพุทธศาสนา มีจำนวนไม่น้อยที่มีจิตใจเกิดรักป่าเขา ความสงบวิเวกของธรรมชาติ ย่อมมีจิตปรารถนาออกธุดงค์ในป่าสูง ห่างไกลบ้านผู้คน เพื่อธรรมปฏิบัติให้ได้ผล หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมออง ข้อสำคัญอุปัชฌาจารย์สอนให้ฝึกจิตหัดสมาธิให้เข้มแข็งสัก ๔-๕ ปี จนเกิดพลังจิตเข้มแข็ง ทั้งที่มีสติมั่นคงตลอดเวลา ไม่หวาดกลัวสรรพสัตว์ต่างๆในป่าดงดิบ สามารถใช้อำนาจจิตแผ่เมตตาสรรพจิตทั้งหลาย เมื่อจ้องเผชิญภัยเฉพาะหน้าได้ไม่พรั่นกลัวเตลิดหนี อันจะมีอันตรายตลอดชีวิต ท่านอุปัชฌาย์เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งท่านออกธุดงค์ได้พบพวกพรานเล่าเรื่องงูกินพระในสมันราว ๗๐ ปีมาแล้ว ครั้งนั้นพวกพรานป่าแถบทางภูกระดึง ไปพบพระธุดงค์กำลังถูกงูใหญ่พันกระหวัดรอบตัว ปากงูอมร่างจากขาเกือบถึงเอวอยู่แล้ว แต่พระธุดงค์รูปนั้นมิได้ดิ้นรนคงปล่อยให้งูใหญ่เขมือบร่างของท่านไปทีละน้อย พวกพรานเห็นเข้าก็ตกตะลึง ต่างตื่นเต้นจะช่วยพระให้พ้นจากปากงูได้อย่างไร พรานคนอื่นได้สติก่อนคนอื่น ร้องสั่งพรรคพวกให้เอาปลายมีดกรีดหนังงูให้ขาด งูก็อาจจะคลายการรัด ปล่อยพระให้พ้นการทรมาน แต่เมื่อท่านเห็นพวกพรานเตรียมจะฆ่างู ท่านกลับยกมือโบกไปมาห้ามไว้ และบอกพวกพรานว่า อาตมาขอบิณฑบาตงูตัวนี้ไว้เถิด อย่าทำอันตรายเขาเลย อาตมาตัดสินใจยอมพลีสังขารให้เป็นอาหารของงูอยู่แล้ว ทั้งได้อโหสิกรรม ว่าเราจะไม่มีเวรกรรมต่อกัน เพื่อชดใช้หนี้กรรมเก่า ขอให้เวรนั้นสิ้นสุดลงในชาตินี้ พรานทั้งหลายพากันเศร้าใจที่พระห้ามทำอันตรายงู แต่ที่รู้สึกแปลกใจอยู่ที่เหตุไฉนภิกษุรูปนี้จึงมีความรู้สึกเป็นปกติมิได้เจ็บปวดร่ำร้อง อย่างที่รู้กันอยู่ว่างูรัดร่างจนกระดูกหักแหลกเหลวน่วมไปทั้งตัวปวดร้าวแค่ไหน ข้อนี้ท่านอุปัชฌาย์อธิบายว่า พระธุดงค์รูปนั้นท่านได้แยกความรู้สึกทางสังขารออกจากจิตของท่านแล้ว ความเจ็บปวดอย่างธรรมดาไม่ทำให้ท่านรู้สึก ปล่อยให้งูรัดและกลืนเข้าไปทีละน้อยทั้งห้ามใครทำร้ายงูนั้น ข่าวงูรัดพระธุดงค์แล้วกลืนกินที่ภูกระดึงเป็นข่าวใหญ่รู้ไปทั่วแดนอีสานในครั้งนั้น ธุดงควัตรของพระภิกษุไทยฝ่ายอรัญวาสี แต่อดีตมีเรื่องเล่ามากมาย ไม่เพียงแต่ล้วนต้องผ่านการหลงป่า หาทางออกสู่จุดหมายไม่ได้ต้องวนเวียนอยู่หลายเวลา แล้วยังต้องเผชิญหน้าสัตว์ใหญ่ ทั้งช้าง และอื่นๆ พระอาจารย์ขาว อนาลโย มีประสบการณ์กับช้างป่าอย่างน่าอัศจรรย์จนล่ำลือผ่านกันมาว่า ท่านสามารถสื่อความหมายกับช้างเถื่อนได้อย่างละเอียดอ่อน พระอาจารย์เทศก์ เทสรังสี เคยมีเหตุประทับใจยิ่งกับเสือลายพาดกลอน อีกรูปหนึ่ง ประมาณพุทธศักราช ๒๔๗๗ พระอาจารย์ฟั่นออกธุดงค์วัตร จากบ้านมะรุม อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา มุ่งไปสู่ดงพญาเย็น มีภิกษุสามรูป สามเณรรูปหนึ่งร่วมทางไปด้วย โยมผู้หนึ่งคือ คุณหลวงบำรุงฯ มีศรัทธาถวายค่าโดยสารรถไฟ ส่งคณะของท่านไปถึงชายป่าดงดิบ อันเป็นดินแดนติดต่อระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ครั้นลงจากรถไฟแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็นำคณะเดินตรงเข้าสู่ดงพญาเย็น ในสมัยนั้นคำเล่าขานกันว่า ผู้ไดจะเข้าสู่ดงพญาเย็น ก็ให้เตรียมหม้อใหม่สำหรับใส่กระดูกไปด้วย ระหว่างทางเดินกันไปกลางป่า พระและเณรต่างกระหายน้ำ พระอาจารย์จึงสั่งให้หยุดพักฉันน้ำก่อน ท่านเองล่วงหน้าไปอีกพักใหญ่ ทันทีนั้นเกิดความรู้สึกเสมือนกำลังจะมีเหตุใหญ่เกิดขึ้น เดินไปให้รู้ตัวว่าใจเต้นแรงเหมือนตีกลอง ท่านเหลียวไปโดยรอบไม่เห็นสิ่งใดผิดปกติ จึงเดินต่อไปเรื่อยๆ ฉับพลันมองไปเห็นเสือหมอบอยู่เบื้องหน้า หันหลังให้ท่าน ครั้นจะหลีกไปทางไหน ก็ไม่ได้ด้วยจวนตัว ตอนนี้หัวใจยิ่งเต้นแรงและถี่ขึ้น พระอาจารย์ฝั้นนสำรวมสติ ตัดสินใจอย่างมิได้คาดคิดมาก่อน ท่านเดินไปจนใกล้เสือ แล้วถามขึ้นว่า “เสือรึนี่?” ลายพาดกลอนตัวมหึมา หันหน้ามาหาท่านพลางผงกหัวรับคำ แล้วเผ่นแผล็วหายไปในป่ารก อีกครั้งหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นออกธุดงค์กับสามเณรรูปหนึ่ง หมายว่าจะไปให้ถึงภูควายในประเทศลาว แต่ครั้นข้ามแม่น้ำโขงไป ก็มีเหตุให้ต้องเดินทางกลับ แต่กลับเส้นทางใหม่ เลียบแม่น้ำโขงไปทางทิศเหนือน้ำ เดินไปตามทางแคบ สองข้างทางเป็นป่ารกชัฏ ตามด่านมีรอยตีนเสือทั้งเก่าใหม่มากมาย ตอนตะวันโพล้เพ้ลได้ยินเสียงคำราม ท่านก็ภาวนาสงบจิตให้มั่นคง แต่ไม่รู้เลยว่าเสืออยู่ตรงไหนกัน มันอาจโผล่พุ่มไม้มาตะครุบเอาง่ายๆ ท่านจึงอุทานผญาภาษิตอีสานว่า “เสือกินโคกินควาย เพิ่นส่าไก่ เสือกินอ้วนเพิ่นส่าไก่” หมายความว่า ถ้าเสือกินโคกระบือ เสือร่ำลือไปไม่ไกล เพราะเป็นสิ่งธรรมดา หากเสือกินพระภิกษุ ผู้คนจะร่ำลือไปไกลมาก ไม่รู้ว่าเสือเข้าใจความหมายนั่นหรือไม่ ปรากฏว่าพระอาจารย์ฝั้นและสามเณรผ่านพ้นมาด้วยโดยสวัสดี เสือเป็น “เจ้าป่า” ดุร้ายกว่าสัตว์อื่น บันทึกของพรานผู้หนึ่ง ได้ล่าเสือกินคนในแหลมมลายูนับหลายสิบตัว น่าสนใจมาก ประกอบกับสิ่งที่เคยพบเห็นเป็นอัศจรรย์ ตั้งแต่วัยเด็กเคยติดตามลุงกับน้าเข้าป่ามาหลายแห่ง จึงประมวลความหวังเพื่อประเทืองปัญญาและอารมณ์ของผู้ที่รักธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร และปรารถนาให้ดินแดนเขียวขจีของต้นน้ำลำธาร คงความสมบูรณ์สืบไปชั่วลูกชั่วหลานแดนไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ สงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นยอมทำสัญญาสงบศึกโดยปราศจากเงื่อนไข เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ กองทัพพันธมิตรปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นเสร็จสรรพ สหพันธรัฐมาเลเซียก็อยู่ในอำนาจปกครองของอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง หลังจากถูกญี่ปุ่นยึดครองอยู่นาน ๕ ปี เวลานั้น ตรังกะนูเป็นรัฐที่ได้รับการพัฒนาน้อยกว่ารัฐอื่น นับแต่อังกฤษทำสัญญายึดตรังกะนูไปจากแผ่นดินสยาม สมัยพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า เชื้อสายไทยหลายครอบครัวยังคงอยู่ที่นั่น เนื้อที่ของรัฐตรังกะนู มีประมาณ ๕.๐๐๐ ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็นสองเขต เคมามัน และตังงัน ประชากรส่วนใหญ่เป็นมลายู มีคนจีนอยู่ไม่มาก เนื่องจากยังไม่มีช่องทางให้ค้าขายที่ให้ผลกำไรคล่องๆ อย่างรัฐอื่น ที่ว่าการสองเขตนั้นออยู่ห่างกันราว ๘๐ กิโลเมตร มีถนนเพียง ๓ สายที่พอจะให้รถแล่นได้ สายใหญ่กว่าเพื่อน คือถนนตัดจากกวนตัน ทางตอนใต้เรียบชายทะเลฝั่งตะวันออก ผ่านเขตเคมามัน ตังงัน แล้วก็กัวลา ตรังกะนู อันเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของรัฐนี้ ถนนผ่านเรื่อยขึ้นไปทางเหนือจนถึงโกตาบารู อีกสายหนึ่งสั้นราว ๓๐ กิโลเมตร จากเคมามัน ลึกเข้าไปในแผ่นดินถึงตำบลเยอปูเต๊ะ สายที่สามสั้นกว่านั้นอีก เป็นถนนดินลูกรัง รถยนต์พอแล่นได้ จากเคมาเช้คไปสิ้นสุดที่ตำบลอิบ๊อค ถนนทั้งสามสาย ฝ่ายตำรวจมาเลเซียยกให้เป็น “เขตแดง” เนื่องจากผู้คนผ่านไปมา มักถูกโจรคอมมิวนิสต์ปล้นเอาบ่อยๆ ถ้าจะให้ปลอดภัยสักหน่อย ก็ต้องไปกันเป็นกลุ่มหลายๆ คน จะไปด้วยจักรยานหรือรถยนต์ยังพอไหว แม้ว่าถนนบางตอน ไม่ดีขนาดต้องลงเดินเอากว่าจะถึงที่หมาย ตามลำน้ำไม่ใคร่มีใครใช้เรือ เพราะอาจเป็นให้พลแม่นปืนคอมมิวนิสต์ซ้อมมือเล่น ฝ่ายปกครองอังกฤษจึงส่งนายทหาร ชื่อ พันโทล็อค มาเป็นผู้บริหารรักษาความสงบสุขในรัฐตรังกะนู มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เคมามัน เข้ามารับหน้าที่เมื่อเดือน มกราคม พ.ศ.๒๔๙๒ เพียงไม่กี่วัน พ.ท ล็อคก็ซึมทราบดีว่า โยหน้าที่ผู้บริหาร รับผิดชอบความสงบเรียบร้อยของรัฐนี้ เขาจะต้องทำประการหนึ่งประการใด ให้บรรดาเสือโคร่งในเขตนั้นหยุดออกรังควานโคกระบือและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่ชาวบ้านร่ำร้องว่าเดือดร้อนมาหลายเดือนแล้ว ให้เสร็จสิ้นเด็ดขาดไปให้จงได้ ฟังข้อร้องเรียนของชาวบ้านในรัฐนี้ พอจับความได้ว่า ระหว่าง ๔-๕ ปีที่ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดครองมาเลเซียอยู่ บรรดาสัตว์เลี้ยงหลายประเภทออกลูกหลานจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เสือโคร่งอาศัยอยู่ในป่าพงดงดิบของตรังกะนู ก็แพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนกันสนุกไป แต่เป็นคราวเคราะห์ของชาวบ้านที่เกิดมีกลุ่ม “จรยุทธ์คอมมิวนิสต์” อกเที่ยวหาพรรคพวกและเสบียงอาหารเข้ามา “เปิดเขตงาน” ในรัฐตรังกะนู ชาวบ้านที่พอมีปืนก็รวมตัวกันเดินตระเวนคอยป้องกันหมู่บ้านของตน ไม่มีเวลาเหลือให้ออกไปล่าเสือที่เข้ามากินโคกระบือบ่อยๆได้ ความทุกข์ ความเสียหายของชาวบ้าน จึงนับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ชั่วระยะ ๗ สัปดาห์ เสือโคร่งตัวหนึ่ง ฆ่าวัวเสีย ๒๓ ตัว หนำซ้ำที่เกิดเหตุยังอยู่ห่างที่พัก “นายฝรั่ง” ผู้ดูแลความสงบปลอดภัยของรัฐเพียงกิโลเมตรครึ่งเท่านั้น ในช่วงดังกล่าว วัวตัวหนึ่งมีราคาราว ๑๐๐ เหรียญมาเลเซีย เสือโคร่งตัวหนึ่งทำความเสียหาย คิดเป็นเงิน ๒๓๐ เหรียญ หรือวันละ ๕ เหรียญครึ่ง ซึ่งมากกว่ารายได้ของชาวบ้านที่จะหาได้ใน ๒ สัปดาห์เสียอีก ที่น่าแค้นที่สุดเกี่ยวกับเสือโคร่งตัวนี้ อยู่ที่มันฆ่าวัวแล้วทิ้งซากไว้ตรงนั้น ไม่กินเนื้อแม้แต่คำเดียว ไม่เฉพาะแต่ตัวที่กล่าวถึงนี้เท่านั้น ยังมีเสืออื่นอีกมาก ที่ทำความความเดือดร้อนและอัดอั้นตันใจ พ่อ แม่ ไม่กล้าส่งลูกไปโรงเรียน เพราะจำเป็นต้องเดินไปตามเส้นทาง ที่มีคนเห็นเสือร้ายออกมาเพ่นพ่านตามถนนสายนั้นด้วย คนกรีดยางอีกนับสิบก็เคยเห็นเสือ พบรอยตีนมันผ่านไปไม่นาน เห็นเข้า คนงานพวกนี้ก็ชวนกันกลับบ้าน ปิดประตูลงกลอนไม่ยอมเข้าสวนไปกรีดยางกัน จึงทำให้รายได้ตกต่ำลงไปมาก คำร้องทุกข์มีมาไม่เว้นแต่ละวัน พันโทล็อค เห็นว่าโครงการกำจัดเสือให้หมดไปจากเขตรับผิดชอบนั้น การเขียนมันง่ายกว่าลงมือปฏิบัติหลายเท่านัก เนื่องจากความจริงปรากฏให้เห็น ๓ ประการ ๑.เขาไม่เคยยิงเสือตัวไหนมาก่อนเลยแม้แต่ตัวเดียว หากไม่ไปศึกษาวิธีดำรงชีพ และการล่าเหยื่อของเสือโคร่งให้เข้าใจแล้ว ต่อให้เหาะเหินเดินอากาศไป ก็ไม่อาจกำจัดเสือตัวไดในมาเลเซีย ๒.งานประจำเพื่อบริหารรัฐตรังกะนู ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลอังกฤษ ก็มากมายล้นมือ จนทำไม่ทันแทบไม่เว้นแต่ละวัน แล้วจะเจียดเวลาตรงไหนเพื่อไปแกะรอยตามล่าเสือ ๓.เวลาเดียวกันนั้น เขาต้องวางแผนป้องกันผู้ก่อการร้ายไม่ไห้รบกวนความสงบสุขของชาวบ้าน สำหรับประการแรก พอเสร็จงานประจำในแต่ละวัน เขาออกไปดูบริเวณที่เสือเข้ามากัดโค พยายามไปให้ถึงจุดที่ชาวบ้านให้การว่า เคยเห็นเสือมาวนเวียนอยู่บ่อยครั้ง ต้องศึกษานิสัยทั่วไป ต้องรู้ว่าเสือมันฆ่าเหยื่ออย่างไร ฆ่าแล้วมันลากเหยื่อไปหมกไว้ที่ไหนเพื่อแทะกิน ครั้งไดที่ชาวมาเลย์ มารายงานว่ามีเสือบุกเข้ามากัดสัตว์เลี้ยง นายฝรั่งก็ยอมทิ้งงาน ออกไปดูจนถึงที่ พูดคุยซักถามรายละเอียดอยู่นานนับชั่วโมง ลงท้าย พันโทล็อคเกิดความสนใจสัตว์ร้ายที่ได้สมัญญาว่าเจ้าป่า จนเสมือนว่าการติดตามศึกษาการดำเนินชีวิตของเสือโคร่งให้ถี่ถ้วน มีความสำคัญยิ่งเสียกว่า ต้องการตามล่ามัน กระนั้นก็ดี ในเมื่อถึงวาระจำเป็นต้องกระทำ เขาต้องยิงมันเพื่อนำความสงบสุขมาสู่ถิ่นนั้นให้ได้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารชาวมาเลย์หลายคนช่วยกันจัดการไม่ไห้นายฝรั่งต้องออกป่าติดตามแกะรอยเสือร้ายทุกครั้งไป โดยจัดให้มี “กองคอยเหตุ” แยกไว้ตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อสดับรับฟังข่าวการเคลื่อนไหวของเสือโคร่ง แล้วจึงมารายงานให้พันโทล็อคทราบ ผ่านทางหัวหน้าหมู่บ้านที่เรียกตามพื้นเมืองว่า “เป็งกูลู” กองคอยเหตุ มีหน้าที่คอยติดตามว่าสัตว์เลี้ยงของใครถูกเสือกัดตายที่ไหน เมื่อได ตายและเจ็บไปกี่ตัว ต้องเก็บข้อมูลมาไห้ละเอียด กองคอยเหตุจึงมีประโยชน์ยิ่ง ช่วยให้ผู้รับผิดชอบ ได้รู้ร่องรอยของเสือร้ายได้ตลอดเวลา ทว่าต้องรีบรายงานให้ถึงล็อคโดยเร็ว อาจจะใช้โทรศัพท์แจ้งข่าวกันเป็นทอดๆ ที่ใช้บ่อยที่สุด ได้แก่ความร่วมมือของตำรวจพื้นเมือง หรือบางทีเป็งกูลู หัวหน้าหมู่บ้าน รีบรุดเข้ารายงานด้วยตนเอง ส่วนด้านการคุ้มกัน ก็จัดไว้เป็นระบบดีมาก ที่พักของพันโทล็อคอยู่ใกล้หมู่บ้าน “บินไจ” มีกลุ่มหนุ่มฉกรรจ์ อาสาสมัครชาวมาเลย์เข้าทำหน้าที่ “ผู้ช่วยตำรวจ” แต่ละคนผ่านการฝึกและอบรมมาอย่างดี เพื่อป้องกันหมู่บ้านของตนให้ปลอดภัยจากการคุกคามของกองโจรคอมมิวนิสต์ หนุ่มเหล่านี้มีปืนลูกซองครบมือ เพียงพันโทล็อคออกปากกับเป็งกูลู ว่าขอหน่วยคุ้มกัน ก็จะมีคนอาสาเป็นสองเท่าของจำนวนที่ต้องการ ในการออกตามล่าเสือป่า หน่วยคุ้มกันจะกระจายกันออก ป้องกันด้านหลังและข้างๆ ไว้ เปิดเพียงด้านที่เก็งว่าเสือจะเข้ามาทางนั้น ก่อนเล่าต่อไป มีสองข้อที่น่าทำความเข้าใจกันเสียก่อน ประการแรก เสือโคร่งไม่ใช่สัตว์ป่า ที่จ้องทำร้ายมนุษย์ก่อน ตรงกันข้ามมันพยายามหลีกเลี่ยงเท่าที่จะมีช่องทางทำได้ ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัด ใกล้ค่ำวันหนึ่ง พันโทล็อคกับผู้ช่วยมาเลย์อีกสอองคนเตรียมซุ้มไม้ไว้นั่งคอยเสือโคร่งอยู่ที่ริมหนองน้ำตื้น กว้างประมาณเท่าสนามเทนนิส เป็นแอ่งน้ำอยู่ตรงกลางหมู่บ้านของชาวป่า ที่ชาวพื้นเมืองปลูกกระท่อมกระจายกันอยู่ห่างๆ ตรงกันข้ามกับหนองน้ำ ที่นายฝรั่งซุ่มตัวอยู่ มีเด็กมาเลย์ ๖-๗ คน วิ่งเล่น ส่งเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนานกลางแดดที่อ่อนแสงลงทุกขณะ เมื่อผู้ช่วยสองคนค่อยๆ กำบังตัวถอยกลับไป ปล่อยพันโทล็อคนั่งในซุ้มไม้คนเดียว เด็กกลุ่มนั้นหารู้ไม่ว่ามีฝรั่งแอบพุ่มไม้อยู่ใกล้ เกิดเปลี่ยนวิธีเล่น เป็นวิ่งไล่กันรอบๆ หนองน้ำ บางคนคลานลงไปริมหนองน้ำเพื่อซ่อนตัว เกือบชั่วโมงต่อมา หลังจากเด็กๆ แยกย้ายกันกลับบ้านของตัวแล้ว ไม่นานนางเสือโคร่งซึ่งนอนซ่อนอยู่ในพงหญ้าริมหนองน้ำตลอดทั้งวัน ก็ค่อยโผล่ออกมาตอนตะวันชิงพลบ เพื่อกินซากวัวที่มันฆ่าไว้เมื่อคืน ล็อคยกปืนประทับบ่า เล็งยิงเปรี้ยงเดียว นางเสือโคร่งก็นออนตายอยู่ตรงนั้น แม้ว่านางเสือโคร่งปรารถนาที่จะทำอันตรายเด็กๆ มันอาจเผ่นเข้าตะปบคนไดคนหนึ่งได้ง่ายที่สุด แต่ก็ไม่ทำ ความคิดที่จะทำร้ายเหล่ามนุษย์ตัวเล็กๆ ที่วิ่งระเริงอยู่รอบหนองน้ำไม่ผ่านมาในสมองมันเลย ข้อที่ต้องทำความเข้าใจประการที่สอง คือประสบการณ์ที่ผ่านมากับสัตว์ร้ายอื่นๆ ในระหว่างที่พันโทล็อคตระเวนป่าดง และเขาสูงในแอฟริกาและอินเดีย ราวสามปีครึ่ง ได้พิสูจน์ให้เขาประจักษ์ว่า เสือโคร่งมลายูเป็นสัตว์ยอดยากแก่การติดตามศึกษานิสัย และวิธีไล่ล่าเหยื่อของมันเหนือสัตว์ป่าอื่นทั้งหมด เสือโคร่งสามารถซ่อนตัว หลบเลี่ยงสายตามนุษย์ หรือสัตว์อื่นได้อย่างแนบเนียนราวกับเงา เฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางวัน มันสามารถเคลื่อนไหวได้โดยปราศจากสุ้มเสียงไดๆ แม้จะอยู่ในพุ่มไม้หนาทึบที่สุดก็ตาม เมื่อรวมกับระบบประสาทที่ไวอย่างเหลือเชื่อ ทั้งหูและสายตา เสือจึงเป็นสัตว์ร้ายที่ทำให้ผู้คนคอยสังเกต แต่ถ้ากระสุนทำได้เพียงแผลผ่านกล้ามเนื้อ ไม่ทำให้กระดูกไหล่หรือขาเสือหัก หรือไม่ทะลุปอด เสือมันยังมีแรงหนีซอกซอนไปได้อีกไกลมาก ซึ่งไม่ใช่ระยะเพียง ๑ หรือ ๒ กิโลเมตรเป็นแน่ ขอให้ระลึกด้วยว่าในช่วงที่กล่าวถึงนี้ มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในมลายูมากมาย กระจายกำลังออกก่อกวนความสงบสุขไปทั่งทุกรัฐในมาเลเซีย การล่าเสือยามค่ำคืน จึงต้องคำนึงถึงอันตรายจากผู้ก่อการร้ายไว้ให้มาก พรานล็อคถือว่าไม่จำเป็นจริงๆ แล้ว เขาจะไม่ยิงเสือตัวไดเลย สัตว์ที่ธรรมชาติให้มาทั้งรูปร่างเหมาะสม ปราดเปรียว มีความแข็งแรง อดทน มีสมองที่สั่งงานได้พิศวง เสือเคลื่อนไหวท่าได ก็ไห้เห็นทีท่าสง่างามน่านิยม เขาระลึกอยู่เสมอว่า เสือโคร่งคือสัตว์ป่าของมลายูที่รูปลักษณ์น่าประทับใจที่สุด “สมิง” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ อภิบายไว้ว่า “เสือชนิดที่ถือกันว่า เดิมเป็นคนที่มีวิชาแก่กล้า แล้วกลายเป็นเสือไป เรียกว่าเสือสมิง” มีไม่น้อยทีเดียวที่นึกสะกิดใจว่า เป็นคนมีวิชาแก่กล้านั้น วิชาอะไร ทำอย่างไรจึงกลายเป็นเสือได้ เรื่องทำนองนี้ไทยพูดถึงทุกยุคทุกสมัย ดังในเสภาเรื่อง “ขุนช้าง ขุนแผน” อันเป็นวรรคดีที่ยกย่องกันก็กล่าวถึงวิชาการที่ผู้ชายไทยทุกคนพยายามแสวงหาอาจารย์ อุตส่าห์มานะร่ำเรียนแต่น้อยคุ้มใหญ่ ก็คือวิชาอาคมที่พลายแก้วได้ศึกษามาจากพระภิกษุในวัด อายุน้อยก็เรียนอักขรวิธีจนจบวิชาคำนวณ คิดเลขผานาทีได้ถี่ถ้วนดีแล้ว ก็ถึงการเรียนคาคาอาคม ให้ความรู้พิสดารออกไปเพื่อเตรียมตัวเข้ารับราชการ มีงานศึก ต้องสู้รบปัจจามิตรอยู่แทบตลอดเวลา แต่ละสำนักอาจารย์ก็สอนความรู้ทางไสยศาสตร์ตามความชำนาญของตน ในมลายูก็มีอาจารย์เก่งกล้าทางอาคมอยู่ไม่น้อย ยิ่งเกี่ยวกับสัตว์ร้าย เช่นเสือโคร่ง “เจ้าป่า” ก็ยิ่งมีเรื่องราวฤทธิ์เดชเล่าสืบกันมา ยังเป็นที่เชื่อถือยึดมั่นในบรรดาพราน เล่าลือในความเก่งกล้าของแต่ละคน สร้างศรัทธาได้มากมายจนถึงทุกวันนี้ ทางวิชาการ จัด “เสือ” เป็นสัตว์สี่เท้า ในวงศ์เฟลิดี นิสัยดุร้าย กินสัตว์เป็นอาหาร เสือมีหลายพันธุ์ หลายชนิด ตัวใหญ่มีลายพาดกลอนเป็นทางๆ เรียกเสือโคร่ง พวกที่ตัวมีขนสีน้ำตาลอ่อนปนเหลืองมีลายเป็นดอกทั่วทั้งตัว เรียกเสือดาว รูปร่างของมันน่าเกรงขาม ไม่ว่าจะพบในไทย อินเดีย ในมาเลเซีย หรือส่วนไดของทวีปเอเชีย รูปลักษณ์ของมันโดดเด่นเฉพาะตัว เสือมีถิ่นอาศัย ตั้งแต่ภาคเหนือสุด แถบแม่น้ำอามูร ใกล้ชายแดนระหว่างจีนกับรัสเซีย เรื่อยลงทางใต้ พบเสือได้จนถึงเกาะบาหลีทางตะวันออก เสือก็มีในเกาะซาคาลิน นอกฝั่งตะวันออกของไซบีเรีย ส่วนด้านตะวันตกนั้น จะพบเสือได้ถึงประเทศกรีก เสือจึงเป็นสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยไพศาลมาก ในเกาะลังกานั้นประหลาดอยู่ แม้จะพบเสือดาวและเสือดำอยู่ไม่น้อย แต่ไม่ปรากฏว่ามีเสือลายพาดกลอนเลย ทั้งที่อยู่ไม่ห่างจากอินเดีย บอเนียวก็เป็นอีกเกาะหนึ่งที่เขาว่าไม่พบเสือโคร่ง ส่วนอินเดียนั้นได้ชื่อว่า เป็นแหล่งใหญ่สำหรับเสือโคร่ง มีจำนวนมากกว่า ซ้ำยังมีขนาดโตกว่าเสือลายพาดกลอนในถิ่นอื่นด้วย ประเทษมาเลเซีย มีเสืออาศัยอยู่มากในรัฐตรังกะนู กลันตัน ตอนเหนือของรัฐปะหัง และรัฐเปรัค ซึ่งรวมกนแล้วเนื้อที่กว้างมาก ส่วนใหญ่ยังเป็นป่าดงดิบรกรุงรัง ซึ่งรัฐบาลอังกฤษจัดไว้เป็นเขต “อุทยานพระเจ้าจอร์ชที่ ๖” เป็นป่าสงวนในแหลมมลายู เสือลายพาดกลอนอยู่ได้ทั่วทุกเขตตลอดไปถึงปลายแหลม รวมถึงสิงคไปร์ด้วย ยะโฮร์นั้นเคยมีเสือชุกชุมสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทว่าการยึดครองของทหารญี่ปุ่น เสือมันจะครั่นคร้ามหรือท้อแท้อย่างไรไม่ปรากฏ มันไม่เพิ่มลูกหลานขึ้นเลย ผิดกับรัฐอื่นทางตอนเหนือของมาเลเซีย ซึ่งเสือลายพาดกลอนขยายจำนวนเต็มที่ ยังจำได้ถึงความตื่นเต้นโกลาหลครั้งใหญ่ เหตุเริ่มจากจากหนังสือพิมพ์มลายู ลงข่าวเสือโคร่งตัวหึมาบังอาจเหยียบย่างขึ้นเกาะสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ หากว่าข่าวชิ้นนั้นเป็นที่เชื่อถือได้จริง โดยรายงานว่าพบรอยเสือที่หาดทราย ด้านช่องแคบยะโฮร์ซึ่งเวลาน้ำทะเลลดระดับ เสือจะว่ายน้ำข้ามช่องแคบได้สบาย แต่ก่อนนั้นมีคนพบเสือบ่อยๆ ในสิงคโปร์ ถึงกับมีบันทึกทางราชการว่า เสือตัวหนึ่งถูกยิงตายใต้ห้องบิลเลียดที่ยกพื้นไว้สูง ในโรงแรมที่มีชื่อสำหรับยุคนั้น มีผู้คนขอให้พันโทล็อคประเมินดูที ว่าเสือในแหลมมลายูมีสักเท่าได เขาตอบว่า หากอนุญาตให้เขาลาพักราชการงานประจำตลอดทั้งปี ต้องมีทุนให้พร้อม ทั้งพาหนะไปหนไดโดยสะดวกอิสระทุกท้องที่ เขาก็อาจหาคำตอบให้ รับรองว่าถูกต้องแม่นยำราวร้อยละ ๕๐ วิธีคิดเริ่มด้วยหาเกณฑ์เฉลี่ยของเสือลายพาดกลอนที่อาศัยในป่าเขตต่างๆ ของรัฐตรังกะนู ในช่วงเวลา ๒ ปี ตามข้อสันนิษฐานว่าเสือตัวหนึ่งต้องการเนื้อที่ป่าสำหรับหากินประมาณ ๑๐ ตารางไมล์ (๒๖ กิโลเมตร) สำหรับรัฐตรังกะนูและกลันตัน ส่วนรัฐอื่นที่รายงานพบเสือ ก็ประเมินตัวเลขต่ำลงอีก รัฐ เนื้อที่เป็นตารางไมล์ จำนวนเสือโคร่งโดยประมาณ ตรังกะนู ๕.๐๕๐ ๔๕๐ กลันตัน ๕.๗๔๖ ๕๐๐ ปะหัน ๑๓.๘๗๓ ๔๐๐ เปรัค ๗.๘๙๐ ๔๐๐ ยะโฮร์ ๗.๓๒๑ ๓๐๐ เคดะห์ ๓.๖๐๐ ๑๕๐ ปะลิศ ๓๑๐ ๒๐ เซลังงอ ๓.๑๖๖ ๓๐ เซมบิลันเหนือ ๒.๕๕๐ ๒๐ มะละกา ๖๓๓ ๑๐ ปีนัง ๔๐๐ – รวมเนื้อที่ ๕๐.๕๙๙ มีเสืออประมาณ ๒.๙๙๐ ตัว สืบค้นจากหนังสือเก่าๆ ว่าด้วยการล่าสัตว์ใหญ่หลายประเภท พบว่าเสือลายพาดกลอนที่ล่าได้นั้นมีขนาดตัวยาวถึง ๔ เมตร ถึงปัจจุบันพรานทั่วไปถือว่าหาเสือที่วัดขาดได้เกิน ๓ เมตร ก็นับว่าเป็นขนาดใหญ่แล้ว เสือทั่วไปออกล่าเหยื่อเท่าที่จะหาได้ในป่านั้น ในมลายูมีหมูป่ามากว่าสัตว์อื่น เพราะชาวมลายูส่วนใหญ่เป็นอิสลาม หมูป่าจึงเพิ่มจำนวนเรื่อย เพราะสัตว์ประเภทนี้ตกลูกครอกละ ๖-๗ ตัวขึ้นไป สัตว์อื่นก็มี เนื้อทราย หรือเก้ง นานๆ จะพบสักตัว ส่วนกระจง นกยูง และไก่ป่าตัวเล็กเกินไป เสือกินไม่อิ่ม เว้นแต่ลูกเสืออายุเพิ่ง ๒ ขวบ ออกหัดล่าเหยื่อ จึงได้ล่าสัตว์ตัวเล็กๆ เพื่อความชำนาญ ตราบไดที่เสือหากินอยู่ในป่าดง คนก็ไม่สนใจกับมันนัก เมื่อไดมันหิวจัด หาเหยื่อในป่าไม่ได้ เกิดมุมานะบุกเข้ากัดโคกระบือ แพะ ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านรวมตัวกันล่าเสือนั้น ถ้ามันกัดคนถึงตายด้วย ก็ต้องเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที พันโทล็อคเข้าไปรับหน้าที่รักษาความสงบสุขของรัฐตรังกะนู สำนักงานอยู่ในเขตเคดามันจวนจะครบ ๖ เดือนแล้ว จึงมีโอกาสยิงเสือโคร่งตัวแรกในชีวิต เนื่องด้วย ๔ เดือนแรกที่มาอยู่ใหม่ๆ เขาต้องเดินทางไปตำบลต่างๆ ทำความรู้จักชาวบ้านในท้องที่ห่างไกล ที่มักได้รับความเดือดร้อนจากสัตวืป่าบ่อยๆ จึงร้องเรียน พร้อมกันนั้นก็สืบถามความรู้เกี่ยวกับแหล่งหากิน วิธีล่าเหยื่อ ตลออดจนนิสัยของเสือลายพาดกลอนที่ชุกชุมไปด้วย จากชาวบ้านที่รายงานเสือเข้ามากัดสัตว์เลี้ยง เขาต้องซักถึงเวลา เสือมาเดี่ยวหรือมาคู่ มันบุกมาทางไหน ครั้นออกเวลาต้องออกติดตามล่าเสือเข้าจริง ความพยายามที่ทำมาตลอดกับล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะไม่มีประสบการณ์มาก่อน ล็อคต้องอาศัยคำแนะนำจากชาวพื้นเมืองเป็นส่วนใหญ่ หลายคนขันอาสาด้วยความเต็มใจ แม้สัตวืเลี้ยงของตนจะไม่ถูกเสือรังควาญก็ตามที เป็นธรรมดาของชาวบ้านไม่ว่าชาติได ภาษาได ชอบเหมือนกันหมดที่ขอให้ได้ออกความเห็น จะมีเรื่องอะไร ที่ไหน เมื่อได ขอให้พูดแสดงความคิดเห็นไปทุกเรื่ออง จะถูกจะผิด จะรู้จริงหรือเดาเอา จะมีเหตุผลดีน้อยแค่ไหนฉันไม่สนใจ ขอโอกาสให้ได้พูดกับเขาบ้างเป็นใช้ได้ หากถูกขัดคอ หรือโต้แย้ง ก็จะเถียงหน้าดำหน้าแดง ถึงจะตอบอย่างตะแบง หรือเถียงข้างๆ คูๆ ขอให้ได้ตะแบงเสียงข่มเข้าไว้ บ้างคนถึงไม้ถึงมือ ตรงกับคำโบราญที่ว่า “ดีแต่ขึ้นเสียง เถียงไม่ตกฟาก” พรานล็อคเองก็หนีไม่พ้นวังวนดังกล่าว เขารับฟังเพื่อนชาวมาเลย์แนะนำความรู้เกี่ยวกับเสือโดยสงบทุกคน ทั้งๆ ที่รู้ว่า หลายคนรู้ไม่จริง สำหรับคนที่รู้จริงเขาก็เก็บความมาพิจารณา แต่เนื่องจากพันโทล็อคมีกิจธุระรอบด้าน วันไดมีข่าวถึงเขาว่าโคกระบือของชาวบ้านถูกเสือกัดตาย ก็ปล่อยเป็นหน้าที่ของเพื่อนชาวมาเลย์จัดการไป ตามที่เห็นเหมาะสม เป็นต้นว่า หาต้นไม้เพื่อขัดห้าง ให้ใกล้จุดที่เหยื่อถูกสังหาร จะไห้ห้างกว้างแค่ไหน สูงจากพื้นดินเท่าได จะจัดให้ใครขึ้นไปนั่งห้างอยู่กับนายฝรั่ง ต้องเตรียมอะไรไปบ้าง จะให้ขึ้นห้างเวลาเท่าได เรื่องเหล่านี้ การขัดห้างแต่ละครั้งก็แตกต่างกัน ตามแต่สภาพพื้นที่ ที่พบเหยื่อที่ถูสังหารทิ้งไว้ บางครั้งผู้ช่วยชาวมาเลย์จัดการตัดหญ้ารอบซากวัวออกเป็นบริเวณกว้าง โดยหวังดีจะให้นายฝรั่งเห็นเป้าได้ถนัด ในเมื่อจะคอยซุ่มเสืออยู่ที่พื้นป่า แต่บางเวลาจะต้องขัดห้างไว้บนคบไม้ ก็มีคนอาสาขึ้นนั่งห้างเป็นเพื่อนด้วยคราวละหลายคน อ้างว่าจะช่วยเป็นหูเป็นตา คอยบอกว่าเสือกำลังย่องมาทางไหน เรื่องเช่นนี้ล็อคต้องใช้เวลาอธิบายอยู่นาน เพื่อให้ลดจำนวนผู้อาสาลง จนในที่สุดเหลือเพียงสองคน ทว่าหลายต่อหลายคืนที่ล็อคต้องนั่งถ่างตาอยู่คนเดียวขณะที่คนอาสาทั้งคู่กรนคร่อกไปแล้ว ความพยายามล่าเสือที่มากัดโคชาวบ้าน เป็นไปทำนองดังกล่าว ๑๘ คืน ไม่มีเสือย่างกรายมาให้เห็นแม้แต่เงา แถมยุงป่าเคมามันยังรุมดูดเลือดพันโทล็อคจนพุงป่องไปตามๆ กัน ล็อคจึงได้รู้เป็นบทสรุปว่า บรรดาผู้หวังดี ช่วยเหลือ และแนะนำนานาประการนั้น ล้วนมีความกระตือรือร้นมากกว่ามีประสบการณ์แท้จริง เขาจึงตกลงใจว่า คราวต่อไป พอได้รับรายงานเสือเข้าไปกินสัตว์เลี้ยงที่ได พบซากเหยื่ออยู่ตรงไหนแล้ว เขาจะจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง และขอนั่งห้างคนเดียว ไม่ไห้ผู้มานั่งเป็นเพื่อนอีก คำกล่าวนี้แพร่ไปอย่างรวดเร็วทุกหมู่บ้าน ที่เคยมีเสือโคร่งเข้าไปรังควาน แถมกำชับว่า ให้รายงานเสือฆ่าสัตว์เลี้ยงโดยตรงต่อล็อค และด่วนที่สุด ไม่ต้องรอแจ้งหัวหน้าหมู่บ้านหรือใครอื่นฟังเสียก่อนเช่นเคยมา นับแต่ออกประกาศออกไปแล้ว พันโทล็อคไม่ต้องรอนานเลย วันที่ ๓๐ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๔๙ ได้รับรายงานด่วนว่า เสือกัดวัวตัวหนึ่งตายในคืนที่ผ่านมา ที่ตำบลกำปงกุบัง คุรุส วึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชาวบ้านปลูกกระท่อมหักห่างกัน ยังอยู่ในเขตของเคดามัน จุดที่พบซากวัวอยู่ห่างจากโรงพยาบาลประจำเคดามันเพียง ๘๐๐ เมตร ยังไม่มีผู้ไดแตะต้องซากนั้น บังเอิญในวันนั้นพันโทล็อคให้ลูกน้องคนสนิทชื่อ ป๊ะมัด พาเด็กหญิงมาเลเซียไปส่งที่กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย อยู่ห่างเคมามันไปถึง ๔๘๐ กิโลเมตร เพื่อเข้ารับการผ่าตัดนัยน์ตาโดยด่วน ล็อคจึงรีบออกไปกับชาวบ้านผู้มาส่งข่าว ฉวยปืนลูกซองไปกระบอกเดียว เพราะเวลานั้นกระสุนสำหรับปืนยาวมันลิคอร์ยังส่งมาไม่ถึง พร้อมกันนั้นเขานำเชือกมนิลาไปด้วยขดใหญ่กับเสื้อผ้าไว้เปลี่ยนอีกชุดหนึ่ง พอไปถึงที่เกิดเหตุ ถามหาคนรู้เรื่องเสือเข้ามากัดวัว ก็ไม่มีใครสักคน จนหญิงวัยกลางคนมาเลย์เข้ามาบอกว่า จะพานายฝรั่งไปที่พบซากวัว ต้องนับว่าแปลกมากทีเดียว ที่หญิงพื้นเมืองอาสาเข้ามาช่วยฝรั่งแปลกหน้า ทว่าหญิงกลางคนผู้นี้ได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า นางมีจิตสำนึกและน้ำใจเหนือคนมาเลย์ทั่วไป เนื่องจากขณะที่พันโทล็อคกำลังถามหาคนพบซากวัวที่ถูกเสือฆ่าอยู่นั้น หญิงคนนี้ส่งเสียงร้องเรียกให้ช่วย เขารีบเข้าไปที่บ้านของนาง พบตะกวดใหญ่ปีนเข้าเล้าไก่ กำลังงับแม่ไก่ตัวหนึ่งอยู่พอดี ล็อคฉวยได้หอกที่พิงอยู่ข้างประตูบ้าน พุ่งไปโดนโคนขาตะกวด มันตะเกียกตะกายหนีออกจากเล้าไม่ไหว หญิงคนนั้นคว้ากระบองยาวหวดกระหน่ำตามหัวตามตัว จนตะกวดตายคาที่….


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
กลับป่าช้ากันเถอะ
ปู่โสม เฝ้าสวน
นัดเล่า…ผี
ตัวตาย ตัวแทน
ซากสยอง กลางดงมรณะ
เรื่องผี ขยี้ขวัญ